คุณเคยรู้บ้างไหม ว่า
เด็กนอนน้อย อ้วนมาก
ผู้ใหญ่นอนน้อย ลงพุงมากขึ้น
เด็กและวัยรุ่นที่นอนน้อยจะน้ำหนักเกิน หรืออ้วนกว่า เด็กและวัยรุ่นที่นอนเพียงพอ
(Longitudinal impact of sleep on overweight and obesity in children and adolescents : a systematic review and bias-adjusted meta-analysis. Fatima Y. Obesity Reviews 2015; 16, 137-149)
ปัญหาเด็กอ้วน วัยรุ่นอ้วน ในสังคมบ้านเรามีมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการใช้ชีวิตแบบ
“อร่อยเกิน อยู่สบายเกิน เอาแต่ใจเกิน”
โดยเฉพาะในสังคมเมือง สังคมวัตถุนิยม นิยมบริโภค ที่การนอนดึก ตื่นสาย ชอบสบาย เกลียดงานหนัก เป็นสิ่งปกติในทุกครอบครัว เป็นเหตุให้โรคเอ็นซีดี (NCDs) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลายเป็นโรคระบาดที่ทำให้ชาวไทยชาวโลกเราป่วย พิการและเสียชีวิตอันดับหนึ่งและการเกิดโรคดังกล่าว ก็เริ่มต้นตั้งแต่ความอ้วนในเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งจะกลายเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ อัมพาต หลอดเลือดหัวใจตีบตัน มะเร็ง ตามมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ควรจะนอนวันละ ๖-๘ ชั่วโมง การนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน อาจเพิ่มโอกาสโรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น
แต่การนอนในเด็กและวัยรุ่น เกี่ยวข้องกับความอ้วนหรือไม่ และเกี่ยวข้องอย่างไร ยังไม่ทราบแน่ชัด
กลุ่มนักวิชาการชาวออสเตรเลียจึงได้รวบรวมการศึกษาไปข้างหน้าเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับของเด็กและวัยรุ่น กับภาวะน้ำหนักเกินและความอ้วน ได้การศึกษาคุณภาพดี ๑๑ การศึกษาในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นชาวอเมริกัน แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ โปรตุเกสและเวียดนาม มากกว่า ๒๔,๐๐๐ คน ติดตามตั้งแต่ ๑-๒๗ ปี
การศึกษาเกือบทั้งหมดใช้การบอกกล่าวของพ่อแม่ที่สังเกตว่า เด็กนอนเฉลี่ยคืนละกี่ชั่วโมง เป็นเกณฑ์ ระยะเวลาของการนอนหลับโดยเฉลี่ยต่อคืน โดยการให้คำจำกัดความของคำว่า
“การนอนน้อยในเด็กเล็ก” คือ นอนน้อยกว่า ๑๐ ชั่วโมงต่อคืน ถึงน้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมงต่อคืน
“การนอนน้อยในเด็กโต” คือ นอนน้อยกว่า ๗.๕ ชั่วโมงต่อคืน ถึงน้อยกว่า ๑๐.๕ ชั่วโมงต่อคืน
“การนอนน้อยในวัยรุ่น” คืนนอนน้อยกว่า ๖ ชั่วโมงต่อคืนถึงน้อยกว่า ๑๑ ชั่วโมงต่อคืน แล้วแต่ ๆละการศึกษากำหนด
ผลการศึกษาพบว่า เด็กเล็ก เด็กโต และวัยรุ่นที่เฉลี่ยนอนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว จะเพิ่มโอกาสที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนมากกว่าเด็กที่นอนอย่างเพียงพอ ประมาณ ๒ เท่า สรุปว่า เด็กนอนน้อย จะเพิ่มโอกาสอ้วนมากขึ้น
ผู้ใหญ่ที่ระยะเวลาการนอนสั้นเพิ่มโอกาสอ้วนลงพุง (Short sleep duration predicts risk of metabolic syndrome : A systematic review and metaanalysis. Xi B.Sleep Medicine Reviews 2014;18: 293-297)
ผู้ใหญ่บางคนจะมีปัญหาการนอนไม่หลับ การนอนกรน เรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ชั่วโมงการนอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉลี่ยต่อคืนลดน้อยลง
จากการศึกษาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การนอนน้อยเกินไป หรือมากเกินไป อาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และการตายจากทุกสาเหตุ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สนับสนุนว่าการนอนน้อยหรือมากเกินไป น่าจะเพิ่มโอกาสเกิดกลุ่มอาการอ้วนพีมีพุง หรืออ้วนลงพุง ซึ่งได้แก่รอบเอวใหญ่เกิน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและการตายเพิ่มขึ้น แต่การศึกษาหาความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการนอนน้อยกับเพิ่มโอกาสอ้วนลงพุงในระยะยาว ยังไม่มีผลสรุปที่แน่นอน
นักวิจัยจากชาวจีนจึงร่วมกันรวบรวมข้อมูลการศึกษา จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ได้การศึกษาคุณภาพดี ๑๒ การศึกษา ในประชากรชาวอเมริกัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีและอิหร่าน จำนวน เกือบ ๙ หมื่นคน เกิดภาวะอ้วนลงพุง มากกว่า ๑ แสน ๘ พันกว่าคน พบว่าผู้ใหญ่ที่นอนน้อยกว่า ๕-๖ ชั่วโมงต่อคืน เพิ่มโอกาสเป็นภาวะอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗ เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนเฉลี่ย ๖-๘ ชั่วโมงต่อคืน
ส่วนระยะเวลานอนที่นานกว่า ๘-๙ ชั่วโมงต่อคืน ไม่เพิ่มโอกาสเกิดภาวะอ้วนลงพุง
ถ้าเลือกเฉพาะการศึกษาไปข้างหน้าของชาวเกาหลี ๒ การศึกษาพบว่า เฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่นอนเพิ่มโอกาสอ้วนลงพุงร้อยละ ๘๐ แต่ในกลุ่มผู้ชายไม่เพิ่มโอกาสดังกล่าว
สรุปว่า ผู้ใหญ่ที่นอนน้อย เพิ่มโอกาสอ้วนลงพุง
ดังนั้น คนทุกเพศทุกวัยที่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นตามวัย เพิ่มโอกาสอ้วนและอ้วนลงพุง โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ทำไมการนอนน้อยจึงเพิ่มโอกาสอ้วน น่าจะเป็นเพราะเวลากลางคืนถ้าเราไม่ได้นอนในเวลาอันควรจะหิวและบางคนก็หิวจนนอนไม่หลับ ต้องกินอาหารเพื่อบรรเทาความหิวในเวลาที่ร่างกายไม่ต้องการ ไม่ได้เผาผลาญอาหาร จึงเกิดการสะสมของอาหารที่กินเกินจนอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง
นอกจากนี้ ผู้ที่นอนในเวลากลางคืนไม่เพียงพอ จะง่วงนอนกลางวัน หรือหลับในเวลากลางวัน ซึ่งจะลดเวลาการออกแรง ออกกำลัง ใช้แรงงานในเวลากลางวัน ก็ยิ่งทำให้อาหารที่กินในเวลา กลางวัน สะสมเพิ่มขึ้นอีกจนน้ำหนักเพิ่มขึ้น